ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้น โดยแท้จริงแล้วเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน อย่างไรก็ตาม อุทกภัยในปี 2554 แม้ว่าจะมีปริมาณน้ำโดยรวมน้อยกว่าอุทกภัยในปี 2538 แต่กลับส่งผล กระทบแก่ประชาชนในวงกว้าง อีกทั้งกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา อะไรคือปัญหา และแนวทางป้องกันไม่ให้ปี 2555 ต้องซ้ำรอยเดิม ควรเป็นอย่างไร ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้น โดยแท้จริงแล้วเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน ที่เลวร้ายที่สุดน่าจะเป็นเมื่อครั้งน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2485 โดยครั้งนั้น น้ำได้ท่วมตามสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม และอีกครั้งที่เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯใน พ.ศ. 2538 จากพายุหลายลูกพัดผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา และมีสภาพฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ทำให้ฝนตกหนักในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับพายุ “โอลิส” ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูง โดยวัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 มีค่าระดับสูงถึง 2.27 เมตร (รทก.) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์(เท่าน้ำท่วมปี พ.ศ. 2485 ) ทำให้น้ำล้นคันป้องกันน้ำท่วมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในระดับสูงถึง 50 – 100 ซ.ม. อุทกภัยน้ำท่วมในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เป็นอุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างฤดูมรสุมในประเทศไทย ผลกระทบหนักที่สุดอยู่ที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง เหตุการณ์กินเวลาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมและยังคงดำเนินมามากกว่าสองเดือนจนถึงปัจจุบัน จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 527 ราย สูญหาย 3 ราย และมีผู้ได้รับผลกระทบ 2.9 ล้านครัวเรือน หรือกว่า 9.5 ล้านคนโดยประเมินความเสียหายอยู่ที่ 156,700 ล้านบาท ส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม 2.31 แสนล้านบาท อุทกภัยดังกล่าวทำให้พื้นดินกว่า 150 ล้านไร่ (6 ล้านเฮกตาร์) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมใน 63 จังหวัด 641 อำเภอ ตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร ทางภาคเหนือ ไปจนถึง พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี นครนายก นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร ในที่ราบลุ่มภาคกลาง ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง อุทกภัยครั้งนี้ถูกกล่าวขานว่าเป็น “อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ” และครั้งต่อไปที่คาดการณ์กันไว้ว่าน้ำท่วมจะท่วมครั้งใหญ่อีกครั้งปี พ.ศ.2561 น้ำที่เคยเป็นภาระเป็นครั้งคราวที่พอทนทานจึงกลับกลายเป็นวิกฤตของชาติโดยฉับพลัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะอากาศของซีเอ็นเอ็นสรุปความผันแปรเรื่องน้ำเอาไว้ว่า นี่เป็นหนึ่งเงาสะท้อนของภาวะโลกร้อนที่สาเหตุมาจากน้ำมือมนุษย์ด้วยความไม่เคยรู้เท่าทันน้ำที่ทำให้ฝืนธรรมชาติอย่างผิดๆ คิดว่าเราสามารถบริหารจัดการน้ำนับหมื่นลูกบาศก์เมตรได้ กลายเป็นวิกฤตน้ำที่ส่งผลกระทบมาเป็นวิกฤตของคนไทย และยังเกี่ยวโยงถึงวิกฤตของการบริหารจัดการเรื่องน้ำ น้ำท่วมครั้งนี้ ยังมีคำถามที่หลายคนอยากรู้ก็คือ “จะมีผลกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจ” สิ่งที่มักจะพบคือเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตต่อทรัพย์สิน โดยเฉพาะต่อโครงข่ายการผลิตที่ถูกทำลายไป โดยเฉพาะเมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นในเขตอุตสาหกรรม จะมีนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอีกกี่แห่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยตรง และส่งผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ดังที่เห็นจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญระดับโลก แต่กลับต้องชะงักการผลิตและการส่งออกเพราะความเสียหายจากอุทกภัย ผลกระทบดังกล่าวปรากฏยังตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปลายปี 54 สืบเนื่องมาจนถึงต้นปี 55 ความเสียหายทางเศรษฐกิจของไทยจะมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนได้รับความเสียหายมากแค่ไหน กรุงเทพฯและปริมณฑลจะท่วมเป็นบริเวณกว้างและนานหรือไม่ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมปี 2554 ส่งผลกระทบวงกว้างต่อเศรษฐกิจทั่วประเทศ ได้แก่ - ในอดีตความเสียหายจากน้ำท่วมจะจำกัดอยู่แค่ภาคการเกษตรตลอดจนครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มน้ำเป็นสำคัญ แต่ครั้งนี้น้ำท่วมลุกลามไปยังภาคอุตสาหกรรม ทำให้นิคมอุตสาหกรรมสำคัญ ๆของประเทศที่ทยอยกันจมน้ำ และกระทบต่อสถานประกอบการ โรงงานนับหมื่นและแรงงานมากกว่า 6 แสนคน การซ่อมแซมเครื่องจักร โรงงานที่ต้องจมน้ำไป อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ หมายความว่าบางแห่งกว่าจะกลับมาผลิตใหม่ได้ อาจต้องใช้เวลาถึง 3-6 เดือน
- ระหว่างภาคอุตสาหกรรมซ่อมแซมและฟื้นฟูเพื่อกลับมาผลิตใหม่ แรงงานจำนวนมากของไทย มีปัญหาขาดรายได้อย่างกะทันหันเป็นระยะเวลานาน ซ้ำเติมจากการที่บ้านเรือน สินทรัพย์ต้องเสียหายไปและเมื่อน้ำท่วมเข้ามากรุงเทพฯ ความเสียหายต่อสินทรัพย์ธุรกิจ และเศรษฐกิจก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
- จากแต่ก่อนที่น้ำท่วมต่างจังหวัด ชาวกรุงเทพฯ บริจาคช่วยเหลือ ตอนนี้ท่วมกันถ้วนหน้า ต่างคนต่างต้องดูแลตนเอง เก็บเงินไว้ซ่อมบ้านตนเอง กระบวนการฟื้นฟูก็จะไม่ง่ายเหมือนเดิม
ในระยะยาวความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติในไทยหลังจากน้ำท่วมครั้งนี้คือ “ต่อไปจะเกิดปัญหาเช่นนี้อีกไหมในอนาคต” สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ (1) ดูแลช่วยลดความทุกข์ของทุกคนจากน้ำท่วม (2) ออกมาตรการเยียวยาให้ประเทศฟื้นขึ้นมาได้ และ (3) จะมีโครงการสำคัญที่จะมาช่วยบริหารจัดการเรื่องน้ำอย่างจริงจัง เพื่อเป็นประกันให้กับทุกคนว่า “จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เช่นนี้อีก และรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจที่มาลงทุนในไทยไม่ให้ย้ายการลงทุนไปประเทศอื่น ทั้งหมดนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นน้ำท่วมในปี 2554 อีกครั้ง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากมายมหาศาลนับแสนล้านบาท คนตกงานนับแสนยังไม่รวมความเสียหายต่อทรัพย์สินและความทุกข์ยากทางกายและใจอย่างเหนือคณานับ ทั้งๆที่นักวิชาการต่างยืนยันว่ามวลน้ำปีนี้มิได้มีมากกว่าปี 2538 …. ————– อ้างอิง ปิยมิตร ปัญญา.”วิกฤตน้ำ วิกฤตคน วิกฤตการพัฒนา” มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 31ตุลาคม 2554. เดลินิวส์. น้ำท่วมกับเศรษฐกิจ. ฉบับวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2554. กอบกุล รายะนคร. สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. |