จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่อาคารบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเป็นอย่างมาก จึงเกิดข้อโต้แย้งในสังคมขึ้นมากมาย บ้างก็ว่า คนเมืองลืมความเป็นไทยแต่เดิมที่สร้างบ้านยกใต้ถุนเพราะอยู่ในที่ราบลุ่มน้ำท่วมบ่อย บ้างก็ว่าคนไทยตามพวกฝรั่ง ก็เลยไปสร้างบ้านแบบฝรั่งเขา ไม่ได้ดูสภาพบ้านเมืองตัวเอง เป็นต้น แล้วอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบบ้านไปจากเดิม มันเหมาะแล้วหรือกับสภาพปัจจุบัน จากการศึกษาการสร้างบ้านของคนไทยในภาคกลาง พบว่า ทุกครัวเรือนซึ่งมีที่อยู่อาศัยในพื้นที่ราบลุ่ม และน้ำท่วมขัง จะสร้างบ้านเรือนชั้นเดียวใต้ถุนสูงให้รอดพ้นจากน้ำท่วม โดยกำหนดความสูงของใต้ถุนจากระดับน้ำที่เคยท่วมสูงสุดในอดีตที่ผ่านมามีการขุดคูคลองเพื่อให้น้ำไหลผ่านลงสู่ทะเลโดยเร็ว และในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นทางเดินเรือเพื่อสัญจรไปมา และขนส่งสินค้าทั้งในภาวะปกติและภาวะน้ำท่วม ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาถนนหนทางมากขึ้น ความนิยมในการสัญจรไปมาใช้รถ ซึ่งวิ่งไปตามถนนแทนเรือ จึงทำให้คูคลองถูกถมและทำถนนแทน ส่วนที่ไม่ถูกถมก็ปล่อยให้ตื้นเขินน้ำไหลไม่สะดวก เมื่อฝนตกลงมาก็ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน การสร้างบ้านเรือนก็เปลี่ยนไปจากชั้นเดียวใต้ถุนสูงมาเป็นชั้นเดียวโดยมีพื้นบ้านตั้งอยู่ในระดับดิน อาจมีการถมให้สูงขึ้นมาเล็กน้อย แต่ไม่สูงพอจะหนีน้ำท่วมได้ หากลองพิจารณาจากภาพเมืองในย่านเก่า ๆ ทั้งในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เกาะเมืองอยุธยา หรือที่เมืองสุโขทัย จะพบว่า อันที่จริงแล้วบ้านที่ยกใต้ถุนสูงนั้น ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองก็ได้ แต่จะสร้างในพื้นที่ที่เหมาะสมและมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับน้ำท่วม เช่น พื้นที่เกษตรกรรมสำหรับพืชที่ต้องเพาะปลูกในพื้นที่น้ำท่วม เช่น พื้นที่ปลูกข้าว เป็นต้น แต่น้ำท่วมจะกลายเป็นอุทกภัยที่มีอันตรายต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนก็ต่อเมื่อไปท่วมในพื้นที่ที่มีกิจกรรมที่ไม่สามารถอยู่กับน้ำท่วมได้ เช่น ย่านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของเมือง จึงเกิดการบริหารจัดการน้ำสำหรับเมืองขึ้น เช่น การสร้างเครือข่ายคลองมากขึ้น การสร้างเขื่อน ระบบระบายน้ำในเมือง ทำให้ความมั่นใจของประชาชนเมืองรู้สึกปลอดภัยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมจะไม่เกิดขึ้น หรือไม่หนักและนานเกินไป จึงมีการพัฒนารูปแบบของการสร้างบ้านเรือนให้สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของเมืองมากขึ้น การที่ผู้อยู่อาศัยเข้าใจที่ที่เราอยู่ รู้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ต่ำ เป็นที่รับน้ำ หรืออยู่ติดคลองที่ใช้ระบายน้ำ ก็ต้องรู้ว่าตัวเองควรจะสร้างบ้านอย่างไรให้สัมพันธ์กับพื้นที่ ไม่ใช่ว่ามองแต่ในที่ของตัวเราเองเท่านั้น โดยไม่รู้ว่ารอบข้างนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ผลที่เกิดขึ้นคือปัญหาที่พบกันในปัจจุบัน ต่างคนต่างสร้าง ต่างจะเอาประโยชน์เข้าตัวเองฝ่ายเดียว สุดท้ายก็เดือดร้อนกันหมดทุกคนการพัฒนาของเมืองอย่างรุนแรงของความต้องการทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ จนเมืองเติบโตเร็วมาก เลยไม่ได้มีใครสนใจกับแนวคลองการระบายน้ำที่ได้จัดการไว้แต่แรก จึงเกิดการถมคลอง สร้างอาคาร หรือถนนขวางทางน้ำไหล จนในที่สุดก็เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำตามา แล้วก็จะเกิดคำถามย้อนกลับมาที่เดิม ว่า เราควรจะกลับไปสร้างบ้านแบบยกสูงแบบเดิมหรือไม่ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณจะสร้างบ้านแบบไหนให้รอดพ้นน้ำท่วม แต่ประเด็นอยู่ที่ คุณจะสร้างบ้านแบบไหนให้เข้ากับพื้นที่มากกว่า คำตอบคงไม่ใช่ว่า บ้านเรือนไทยยกพื้น กับบ้านสมัยใหม่ติดพื้น บ้านแบบไหนที่เหมาะกับเมืองไทย แต่คำตอบอยู่ที่ว่า คุณเข้าใจพื้นที่ที่คุณอยู่มากน้อยเพียงไรต่างหากที่จะสร้างบ้าน
——- อ้างอิง • ความเข้าใจเรื่องทรัพยากรน้ำกับสุขภาวะเมือง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา, 2555. • เหตุที่ทำให้น้ำท่วมมากขึ้น: พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดย สามารถ มังสัง: วันที่ 20 ธันวาคม 2554. |